หน้า 2 จาก 2 3/ ไม่มีกติกาที่แน่ชัดในสังคมไทย ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า แม้แต่การเลือกตั้งก็อาจเป็นหมันไปได้ เพราะเกิดการรัฐประหารขึ้น โดยโครงสร้างแล้ว การลงคะแนนเสียงในบริษัทมหาชน หรือสมาคมใดๆ ไม่ใช่การตัดสินเชิงนโยบาย เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมมือกันเอง หรือผู้ที่มีสายสัมพันธ์สูงและบารมีสูงในสมาคมเป็นผู้ระดมสมาชิกมาลงคะแนนฝ่ายตน
การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในราชการหรือสถานประกอบการของเอกชน ก็ไม่มีกติกาที่แน่ชัดเหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กติกาที่ไม่แน่ชัดแบบนี้ยังทำให้ฝ่ายแพ้ต้องแพ้หมด และฝ่ายชนะก็จะชนะหมด โอกาสที่จะเกิดการประนีประนอม ผนวกเอาความเห็นของสองฝ่ายไปสร้างนโยบายเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ความเห็นต่างของสองฝ่ายจึงยิ่งผลักให้ต่างต้องเข้าไปเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ช่วยกันสร้างกำแพงป้องกันความเห็นจากอีกฝ่ายหนึ่งผ่านเข้ามาได้
4/ เรื่องของการมี "สายสัมพันธ์" (Connection) เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เพราะ "สายสัมพันธ์" ทำให้ได้กำไร ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม เหตุดังนั้นการเกาะกลุ่มกันจึงมีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยมีธรรมชาติเป็นความสัมพันธ์ของกลุ่ม "เส้น" ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลที่หลากหลาย
5/ ระบบการศึกษาของไทยไม่ส่งเสริมการถกเถียงอภิปราย หรือการวิพากษ์วิจารณ์ มีพื้นที่ซึ่งอยู่พ้นออกไปจากการวิพากษ์วิจารณ์มาก (ดังที่กล่าวในข้อ 1) ในชั้นเรียน สิ่งที่ถือว่าเป็น "ความรู้" ก็กลายเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเหนือการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ดังนั้น การศึกษาของไทยจึงไม่นำผู้เรียนไปสู่ "มุมมอง" ของความรู้ เพื่อทำให้เข้าใจว่าความรู้ดังกล่าวนั้นจริงเฉพาะใน "มุมมอง" หนึ่งๆ เท่านั้น
สิ่งที่ถูกถือว่าเป็นความรู้ เช่น คนจนโง่เกินกว่าจะใช้สิทธิตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็กลายเป็นความรู้ที่ไม่ต้องวิเคราะห์ว่าความรู้เช่นนี้จริงเมื่อมองจากมาตรฐานของใคร หรือในทางตรงกันข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นวีรบุรุษของคนจน ก็เป็นความรู้ที่ไม่ต้องวิเคราะห์อีกเช่นกันว่า จริงต่อเมื่อไม่มองด้านอื่นของนโยบายที่คุณทักษิณผลักดันเช่นกัน
6/ สังคมไทยมีความไม่เท่าเทียมสูงมาก ไม่ว่าจะมองในแง่เศรษฐกิจ, สังคม หรือวัฒนธรรม ฉะนั้นในวิถีชีวิตปกติ ผู้คนก็ไม่ค่อยได้สัมพันธ์กันข้าม "ชนชั้น" อยู่แล้ว ที่เราอยู่ร่วมกันมาได้เป็นนานก็เพราะต่างก็ถือหรือรับ "อาชญาสิทธิ์" เดียวกัน (ไม่เฉพาะแต่ "อาชญาสิทธิ์" ทางการเมือง แต่รวม "อาชญาสิทธิ์" ทางอื่นๆ ด้วย... นับตั้งแต่ทางวิชาการไปจนถึงศิลปินแห่งชาติ)
แต่สังคมไทยปัจจุบันกำลังเกิดคำถามกับสิ่งที่เป็น "อาชญาสิทธิ์" เกือบทุกอย่าง ... แพทย์แผนไทย vs แพทย์แผนตะวันตก, การพัฒนา vs การอนุรักษ์, ทรท. vs ปชป., นายกฯพระราชทาน vs นายกฯเลือกตั้ง ฯลฯ
จึงเป็นธรรมดาที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากคำถามที่มีต่อ "อาชญาสิทธิ์" ย่อมสะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งทาง "ชนชั้น" สูง การขาดความรับรู้ระหว่าง "ชนชั้น" ดังที่กล่าวแล้ว ยิ่งทำให้ความขัดแย้งแปรไปในทางรุนแรงได้มากขึ้น
คุกแห่งอคติที่เราพบอยู่ทั่วไปในเมืองไทยเวลานี้ จึงมีรอยร้าวอยู่เบื้องลึกกว่าสีของเสื้อ รอยร้าวเหล่านี้ทำให้คนไทยเลือกที่จะซุบซิบกันเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอคติเดียวกันอยู่แล้ว สถานการณ์ที่ทำให้เราเลิกซุบซิบแต่หันมาตะโกนดังๆ ทำให้เสียงตะโกนของแต่ละคุกขัดแย้งกันอย่างสุดโต่ง และต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าถูกอีกฝ่ายยั่วยุ จนพร้อมจะเปิดคุกออกมาตีกันให้รู้แพ้รู้ชนะกันไปข้างหนึ่ง
สมานฉันท์จะอยู่ที่ผิวเท่านั้น ตราบเท่าที่เราไม่ประสานรอยร้าวที่อยู่ลึกเบื้องล่าง
|