สันติวิธีกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
|
|
|
หน้า 1 จาก 2 โคทม อารียา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ แนวคิดเรื่องความมั่นคง มิได้มั่นคงถาวรหากเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพปัญหาและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของสังคมมนุษย์ ภัยคุกคามล่าสุดต่อความมั่นคงคือลัทธิการก่อการร้ายและลัทธิต่อต้านการก่อการร้าย มีการกล่าวว่าลัทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากการปะทะระหว่างอารยธรรมคริสต์กับอิสลาม ทำให้มีการแพร่กระจายความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นภายในฝ่ายเอกเทวนิยมด้วยกันนั้นไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ที่นำโดยอารยธรรมคริสต์ และจากการตื่นขึ้นของอารยธรรมอิสลามในระดับโลก ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือการนำศาสนาอิสลามมาเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ของคนเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงและความขัดแย้งที่ยอมกันไม่ได้นั้น มนุษย์มักใช้ความรุนแรง ในรูปของสงครามระหว่างประเทศหรือสงครามกลางเมือง ปัจจุบัน สงครามระหว่างประเทศเป็นไปได้น้อยลง อาจเป็นเพราะเกรงหายนภัยจากสงครามนิวเคลียร์ที่จะทำให้คู่สงครามและแม้ฝ่ายอื่น ๆ ล้วนปราชัยไปด้วยกัน ในศตวรรษที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ประชาชนผู้ถูกกดขี่ ต่อสู้กับอำนาจรัฐที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าโดยใช้สันติวิธี คำถามใหม่ที่ต้องแสวงหาคำตอบก็คือว่า จะใช้สันติวิธีอย่างไรให้ได้ผลในกรณีการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อความมั่นคงของรัฐไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความจำเป็นที่จะแก้ไขปัญหาโดยมีสันติสุขเป็นเป้าหมาย จึงขอเสนอให้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา โดยมียุทธศาสตร์คือการสร้างความไว้วางใจ มีนโยบายคือการรักษาและเสริมสร้างสันติภาพโดยการสื่อสารให้เข้าใจกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าวมีข้อเสนอเชิงปฏิบัติบางประการที่ขอเสนอไว้ในที่นี้เพื่อให้มีการพิจารณาว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไรหรือไม่
|